ประวัติ ของ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)

พระสารประเสริฐ เกิดที่ตำบลถนนตรีเพชร อำเภอพาหุรัด จังหวัดพระนคร (เขตการปกครองสมัยนั้น) เป็นบุตรของหลวงพิพิธวิรัชการ (เทียน นาคะประทีป) และนางสวน เมื่อเป็นเด็กเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ประโยค 2 อย่างเก่าและชอบภาษาบาลีเป็นอย่างมาก จึงขออนุญาตผู้ปกครองบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 17-18 ปีก็ได้เปรียญธรรม 7 ประโยคมีหน้าที่สอนภาษาบาลีในสำนักวัดที่บวชคือวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระมหาตรี” พระมหาตรีมีความเชี่ยวชาญภาษาเป็นอย่างดีและแม้ไม่ชำนาญในภาษาสันสกฤตแต่ก็ยังอ่านอักษรเทวนาครีได้ เพราะเคยติดตามพระอาจารย์คือพระราชาคณะคือพระธรรมนิเทศทวยหาญไปเกาะลังกา เมื่อขุนโสภิตอักษรการเจ้าของ “โรงพิมพ์ไท” ที่จัดพิมพ์หนังสือดีมีคุณภาพในสมัยนั้นต้องการพิมพ์หนังสือหิโตปเทศ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ได้แนะนำให้พระยาอนุมานราชธนรู้จักกับพระมหาตรีให้เป็นผู้ช่วยตรวจ เนื่องจากเกรงว่าอาจเพี้ยนไปจากต้นฉบับภาษาสันสกฤตด้วย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทั้งสองท่านก็ได้มีความสัมพันธ์ทั้งในด้านการงานและการส่วนตัวร่วมกันสร้างสรรค์งานด้านอักษรศาสตร์เป็นมรดกแก่ประเทศมาจนตลอดชีวิต

พระมหาตรีสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์เมื่อ พ.ศ. 2462 เมื่ออายุได้ 30 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำกระทรวงกลาโหมซึ่งมีพระธรรมนิเทศทวยหาญเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ศาสนาจารย์ 3 ปีได้เป็นรองอำมาตย์โท

ครั้งนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นได้ขอตัวมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยแผนกอภิธานสยามในกรมตำราเมื่อ พ.ศ. 2465

ในปี พ.ศ. 2466 ก็ได้บรรดาศักดิ์เป็น หลวงธุรกิจภิธาน ประจวบขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กำลังทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา อยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการใกล้ชิดพระองค์ชั่วคราว โดยมีหน้าที่ถวายความเห็นเกี่ยวกับเรื่องศัพท์และตามเสด็จไปอยู่ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันบ่อยครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสวรรคต หลวงธุรกิจภิธานได้กลับไปรับราชการที่เดิม

ในปี พ.ศ. 2469 กรมราชเลขาธิการขอย้ายหลวงธุรกิจภิธานไปรับราชการในกรมในตำแหน่งปลัดกรมพระอาลักษณ์

ในปี พ.ศ. 2471 ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระสารประเสริฐ รับราชการอยู่จนถึง พ.ศ. 2475 จึงย้ายกลับไปรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นข้าราชการชั้นเอกประจำกรมวิชาการ ภายหลังได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองศาสนศึกษาระยะหนึ่งจึงออกจากราชการเพื่อรับพระราชทานเบี้ยบำนาญและได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์พิเศษประจำแผนกวิชาภาษาบาลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2485 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากบรรดาศักดิ์[1]

พระสารประเสริฐ สมรสกับนางสารประเสริฐ (สิริพันธ์ นาคะประทีป) มีบุตร-ธิดารวม 5 คน ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อตามลำดับคือ

  • นางศรีวรรณ ศยามานนท์
  • นางศรีกุน รัชตะรัตนะ
  • นายศรีฉันท์ นาคะประทีป
  • นายศรีสิทธิ์ นาคะประทีป
  • นายศรีกมล นาคะประทีป